เลี้ยงลูกอย่างไร “ให้คิดเป็น”

————————————————————

บทความส่งเสริมกระบวนการคิดสำหรับเด็ก โดยรองศาสตราจารย์ ดร.นภเนตร ธรรมบวร อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศจากหนังสือ ๗๐ปีโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ
——————————————————–

เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อนสนิทที่ไม่ได้พบกันมาเป็นเวลานานได้เล่านิทานให้ฟังเรื่องหนึ่ง นัยว่าได้มาจากการเข้ารับการอบรมการส่งเสริมกระบวนการคิดขององค์กรเอกชนแห่งหนึ่ง

นิทานมีอยู่ว่ามีเด็กผู้ชายเล็กๆ คนหนึ่งเป็นเด็กที่ชอบดูละครสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ วันหนึ่งมีคณะละครสัตว์มาแสดงในเมืองที่เด็กคนนี้อาศัยอยู่ คุณพ่อคุณแม่ก็พาเด็กคนนี้ไปดูละครสัตว์เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมา ละครสัตว์ครั้งนี้สนุกมาก เพราะมีสัตว์ต่างๆ มาร่วมแสดงมากมาย แต่สิ่งที่เด็กผู้ชายสนใจเป็นพิเศษ คือ ช้าง เพราะช้างเป็นสัตว์ที่มีพลังมหาศาล และสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย เมื่อการแสดงละครสัตว์เสร็จสิ้นลง เด็กผู้ชายก็รีบวิ่งไปดูข้างหลังโรงละครด้วยอยากรู้ว่าช้างอาศัยอยู่อย่างไร สิ่งที่เด็กผู้ชายเห็นก็คือ ช้างตัวโตถูกล่ามโซ่ และนำไปผูกติดไว้กับหลักดินอันเล็กนิดเดียว เด็กผู้ชายเห็นดังนั้นจึงเกิดความสงสัยว่า “ทำไมช้างซึ่งมีพละกำลังมากมายมหาศาลจึงไม่ดึงหลักดินให้หลุดออก และวิ่งหนีไป จะได้เป็นอิสระ ไม่ต้องถูกมนุษย์ใช้งานหนักๆ อีกต่อไป”

เด็กผู้ชายได้แต่เก็บงำความสงสัยดังกล่าวไว้ในใจจนเมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี เด็กผู้ชายไม่ใช่เด็กผู้ชายเล็กๆ อีกต่อไป แต่ได้เติบโตขึ้นเป็นชายหนุ่มเต็มตัวพร้อมกับความสงสัยที่ยังค้างคาในใจเป็นเวลาหลายสิบปีว่า “ทำไมช้างซึ่งมีพละกำลังมากมายมหาศาลจึงไม่ดึงหลักดินให้หลุดออก และวิ่งหนีไป”

นักปราชญ์อธิบายให้ชายหนุ่มฟังว่า “ช้างถูกเลี้ยงดูให้อยู่ในสภาพเช่นนั้น ตั้งแต่แรกเกิดจนทำให้ช้างมีความเชื่อว่า ถึงตัวมันจะมีพละกำลังมากมายมหาศาลเพียงใด แต่ก็คงไม่สามารถดึงหลักดินให้หลุดออกได้” นักปราชญ์อธิบายให้ชายหนุ่มฟังว่า “ช้างถูกเลี้ยงดูให้อยู่ในสภาพเช่นนั้น ตั้งแต่แรกเกิดจนทำให้ช้างมีความเชื่อว่า ถึงตัวมันจะมีพละกำลังมากมายมหาศาลเพียงใด แต่ก็คงไม่สามารถดึงหลักดินให้หลุดออกได้”

นิทานที่เพื่อนเล่าให้ฟังจบลงเพียงแค่นี้ แต่สิ่งที่ได้ฟังนั้นทำให้อดคิดเชื่อมโยงไปถึงวิธีการในการอบรมเลี้ยงดูเด็กโดยบังคับให้เด็กเดินตามเส้นที่ขีดเป๊ะๆ จนบิดเบี้ยวออกนอกเส้น หรือนอกกรอบไปบ้างไม่ได้เลย เด็กก็คงเติบโตมามีสภาพที่ไม่แตกต่างอะไรจากช้างในคณะละครสัตว์เป็นแน่ กล่าวคือ ไม่สามารถคิดแตกต่างจากกรอบที่กำหนดให้คิดได้ ต้องเดินไปตามเส้นที่กำหนดไว้อย่างเดียว ซึ่งสภาพดังกล่าวดูจะไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ที่เต็มไปด้วยข้อมูล ข่าวสาร และ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ส่งผลให้เด็กที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตนั้นต้องเป็นคนที่สามารถคิดเป็น และสามารถปรับตัวในสังคมวัตถุที่เต็มไปด้วยการรีบเร่ง แข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายได้

ทุกวันนี้ คุณพ่อคุณแม่จำนวนไม่น้อยมักเชื่อมโยงคำว่า “คิดเป็น” กับคำว่า “เรียนเก่ง” เข้าด้วยกันโดยเชื่อว่า ถ้าลูกเรียนหนังสือเก่งแล้ว ลูกจะสามารถคิดเป็นด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คำว่า “เรียนเก่ง” กับคำว่า “คิดเป็น” นั้นอาจจะเป็นสองคำที่ไม่ได้ไปด้วยกันในรูปแบบของสมการตามที่คุณพ่อคุณแม่คิดหรือนึกไว้ก็ได้ กล่าวคือ คนที่เรียนเก่งอาจไม่จำเป็นต้องคิดเป็น หรือคนที่คิดเป็นอาจไม่จำเป็นต้องเป็นคนเรียนเก่งก็ได้ ซึ่งตัวอย่างก็มีปรากฏให้พบเห็นอยู่ไม่น้อยในสังคมไทยปัจจุบัน เช่น การที่บุคคลที่มีการศึกษาสูง ซึ่งเรามักยกย่องว่าเป็นคนเรียนดี เรียนเก่งแล้วแก้ปัญหาชีวิตของตนโดยการเบียดเบียน หรือทำร้ายชีวิตทั้งของตนเองและผู้อื่น

ดังนั้น คำถามสำคัญสำหรับคุณพ่อคุณแม่คงไม่ใช่คำถามที่ว่า “ทำอย่างไรให้ลูกเรียนเก่ง” แต่น่าจะเป็นคำถามที่ว่า “ทำอย่างไรให้ลูกคิดเป็น และสามารถใช้ชีวิตในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่มีแต่ความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข” มากกว่า

เมื่อพูดถึง “เด็กที่คิดเป็น” ก็ทำให้นึกไปถึงเด็กที่คิดได้อย่างลึกซึ้ง กว้างไกล สามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ต่างๆ ที่พบเห็นในชีวิตประจำวันได้รู้และเข้าใจความต้องการของตนเอง เอื้ออาทรต่อความรู้สึกของผู้อื่น ขณะเดียวกันก็สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำรงชีวิต และการทำงานได้ สามารถปรับตัวเองอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข การที่เด็กจะพัฒนา และเติบโตเป็นบุคคลที่คิดเป็นได้นั้นส่วนหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่โดยมีหลักการสำคัญๆ ดังนี้

  • เปิดโอกาสให้ลูกคิด และตัดสินใจด้วยตนเองบ้าง คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคิดหรือทำสิ่งต่างๆ ให้ลูกไปเสียทุกอย่าง แต่ควรส่งเสริมให้ลูกได้คิดเพื่อตัวเองด้วย เมื่อคุณครูมอบหมายงานที่ให้ลูกทำ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้ใช้ความสามารถ และจินตนาการของตนเองในการทำงานดังกล่าว ไม่ควรช่วยคิดหรือทำแทนลูก
  • เปิดโอกาสให้ลูกได้เผชิญกับปัญหาหรือความยากลำบากในชีวิตบ้าง คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปิดกั้นปัญหา หรือความยากลำบากที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตลูก กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือเปิดโอกาสให้ลูกได้เผชิญกับปัญหา และเรียนรู้วิธีการจัดการกับปัญหาด้วยตัวของลูกเอง โดยที่คุณพ่อคุณแม่คอยเฝ้าดูและให้คำแนะนำ ปรึกษาอยู่ห่างๆ คุณพ่อคุณแม่หลายท่านไม่ต้องการให้ลูกประสบกับปัญหาใดๆ เลยในชีวิต โดยคอยปกป้องลูกจากปัญหาต่างๆ ที่อาจกร้ำกรายเข้ามา เช่น เมื่อลูกขั้นเรียนใหม่ คุณพ่อคุณแม่ก็พยายามที่จะเลือกห้องเรียนที่ดีที่สุดให้กับลูก เพื่อให้ลูกได้อยู่ท่ามกลางเพื่อนที่เรียนเก่ง เป็นเด็กดี หรือสนิทกับลูกมาก่อน โดยไม่ยอมให้ลูกได้พบกับเพื่อนใหม่ๆ หรือเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตบ้าง คุณพ่อคุณแม่หลายท่านมักอ้างเหตุผลว่ากลัวลูกจะไม่มีเพื่อนบ้าง กลัวลูกจะถูกเพื่อนแกล้งบ้าง ซึ่งในความเป็นจริงของชีวิตนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ลืมว่า เราไม่อาจติดตามลูกไปในทุกหนทุกแห่ง หรือช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ทุกปัญหาที่เข้ามาในชีวิตของลูกได้ ด้วยเหตุนี้ คุณพ่อคุณแม่ก็คงจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ลูกได้เผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ด้วยตนเองบ้างเพื่อให้ลูกได้ฝึกความอดทน ได้รู้จักกับความผิดหวังเมื่อสิ่งต่างๆ จากภายนอกและภายในตนเองได้ ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามหักห้ามใจ อย่าสงสารโดยการทำสิ่งหรือบันดาลทุกอย่างให้กับลูก เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้การต่อสู้ชีวิต เห็นความไม่แน่นอน และความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ
  • ส่งเสริมให้ลูกมีความรับผิดชอบ ในปัจจุบันคุณพ่อคุณแม่จำนวนมากไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ลูกที่เรียนรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น ถ้าคุณครูมอบหมายงานให้ลูกทำเป็นการบ้าน คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ มักจะขอร้องให้คุณครูช่วยบอกคุณพ่อ หรือคุณแม่เป็นรายบุคคลอีกครั้งหนึ่ง หรือเขียนเป็นจดหมายบอกคุณพ่อคุณแม่เป็นการส่วนตัว โดยอ้างเหตุผลว่า ลูกไม่ค่อยรับผิดชอบ ไม่ยขอมจดสิ่งที่คุณครูสั่งหรือไม่ยอมบอก ทำให้ไม่ได้ทำงานที่ได้รับมอบหมาย อันที่จร้งแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรใช้โอกาสดังกล่าวในการฝึกความรับผิดชอบของลูก ถ้าลูกลืมหรือไม่ทำสิ่งที่ได้รับมอบหมาย ลูกจะได้เรียนรู้บทเรียนด้วยตนเองและครั้งต่อไป ลูกจะได้เรียนรู้วิธีการกับปัญหาว่าควรทำอย่างไรเป็นต้นไป
  • ฝึกให้ลูกได้ช่วยงานบ้าน หรืองานในกิจวัตรประจำวันบ้าง เช่น ถูบ้าน ล้างจาน รดน้ำต้นไม้ ทั้งนี้เพื่อให้ลูกมีโอกาสทำสิ่งต่างๆ เพื่อผู้อื่นบ้างฝึกการลงมือปฎิบัติจริง เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตนเอง และได้บทเรียนจากการทำงานรวมตลอดถึงเปิดโอกาสให้ลูกได้อยู่กับตนเอง ทั้งนี้เพื่อเรียนรู้และชื่นชมความงามของธรรมชาติรอบตัว
  • ส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นของลูก โดยเปิดโอกาสให้ลูกซักถามหรือแสดงความคิดเห็นขณะเดียวกันก็อาจชวนให้ลูกสังเกตุความเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ รอบตัว

หลักการต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นเพียงแนวทางที่นำไปสู่การพัฒนาการคิดของลูก อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญที่สุดคือสัมพันธภาพที่อบอุ่นในครอบครัว เพราะจะช่วยให้เด็กอยู่ในสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข