มอนเทสซอริ

มอนเทสซอริ (Montessori) คืออะไร .... มาทำความรู้จักเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเทสซอริ
Montessori classroom

(เรียบเรียงโดย ปดิวรัดา ผ่องสุวรรณ)

การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเทสซอริ (Montessori Education)

การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเทสซอริ เริ่มใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) โดย Maria Montessori (ดร.มาเรีย มอนเทสซอริ) ชาวอิตาเลี่ยน ผู้ซึ่งสำเร็จเป็นแพทย์หญิงคนแรกของประเทศอิตาลี

Dr. Maria   Montessori

“The goal of early childhood education should be to activate the child’s own natural desire to learn.”

การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเทสซอริพัฒนามาจากความพยายามของ ดร.มาเรีย ในการนำทฤษฎีทางการศึกษาหลายทฤษฏีมาพิสูจน์ทดลอง เพื่อให้เกิดวิธีการจัดการเรียนการสอนที่สามารถปฏิบัติได้จริง

ดร.มาเรีย เริ่มต้นทำงานด้านการศึกษา โดยการทํางานกับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา หลังจากการสังเกตทําให้ค้นพบว่าปัญหาของเด็กในการเรียนรู้ คือ การให้การดูแลเอาใจใส่มากกว่าเหตุผลทางการแพทย์ที่คิดว่าเด็กเหล่านี้น่าจะดีขึ้นด้วยการกระตุ้นทางสติปัญญา ดร.มาเรียจึงคิดหาวิธีการที่จะช่วยเด็กให้มีพัฒนาการทางสติปัญญาและอารมณ์ เมื่อใช้ได้ผลกับเด็กที่มีความบกพร่อง หลังจากนั้นจึงได้พัฒนาวิธีการสอนสําหรับเด็กปกติด้วย

สิ่งที่ดร.มาเรียค้นพบ คือเด็กมีความอยากรู้อยากเห็นที่จะแสวงหาความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ อยากทดลอง อยากเรียนรู้กิจกรรมใหม่ ๆ อยากที่จะทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำได้ ซึ่งความสนใจของเด็กจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุและพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย จากการสังเกตพบว่าเด็กดําเนินวิถีชีวิตในรูปแบบที่คล้ายคลึงกันคือ เริ่มจากอยากเรียนรู้การกินด้วยตนเอง การเดิน การพูดและการสัมผัสสิ่งของ จนกระทั่งอยากเรียนรู้ อ่าน คิดเลข และเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว สิ่งที่ค้นพบทําให้เห็นถึงขั้นพัฒนาการของเด็กที่แตกต่างกัน เด็กมีความรู้สึกอยากแสวงหาความรู้จากแหล่งที่แตกต่างกัน

ความมีอิสระในการเลือกของเด็กเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ ดร.มาเรียให้ความสนใจ เนื่องจากความสนใจของเด็กเองเป็นแรงกระตุ้นที่ดีที่สุดในการเรียนรู้และจะช่วยให้เด็กมีสมาธิในการทํางานที่ตนเองสนใจเด็กอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ พยายามและทําซํ้าๆ ดังนั้นการให้เด็กได้ทํางานอย่างอิสระในสิ่งที่เด็กเลือก สิ่งที่มุ่งหวัง คือ ให้เด็กได้ทำงานตามความสามารถของตน ได้ทำงานด้วยสมาธิโดยไม่มีใครมารบกวน และมีวิจารณญาณที่ดีต่อบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อม

การจัดการเรียนการสอนแบบมอนเทสซอรินั้น เกิดจากการศึกษาธรรมชาติที่แท้จริงของเด็กผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยนำผลจากการสังเกตมาจัดการเรียนการสอนที่สนองต่อธรรมชาติของเด็กแต่ละช่วงอายุ ผ่านสื่อมอนเทสซอริ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การนำเสนอที่เป็นลำดับขั้นตอน อิสรภาพภายใต้ขอบเขตที่กำหนด

หัวใจสำคัญครูผู้สอนแบบมอนเทสซอริ คือ ให้ควบคุมที่สภาพแวดล้อม มิใช่ควบคุมที่ตัวเด็ก โดยผู้ใหญ่ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองในการมองเด็กใหม่ ควรมองเด็กว่าเด็กสามารถทำหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างได้ หากเพียงแต่ผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เด็กเป็นผู้ลงมือปฏิบัติ และปล่อยให้ธรรมชาติที่แท้จริงของเด็กแสดงออกมาได้อย่างอิสระ บทบาทของผู้ใหญ่จะเป็นเพียงผู้แนะนำและมีหน้าที่สังเกตพัฒนาการของเด็ก ให้ความช่วยเหลือเมื่อเด็กต้องการ

ลักษณะการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเทสซอริ

แนวคิดการสอนของมอนเทสซอริจะเริ่มจากรูปธรรมไปสู่นามธรรม เพราะฉะนั้นอุปกรณ์จึงเป็นสิ่งสําคัญในการเรียนการสอนแต่อุปกรณ์ไม่ใช่สิ่งที่สําคัญที่สุดสําหรับวิธีการสอนแบบมอนเทสซอริ แต่เป็นเพียงผู้ช่วยที่ดีเท่านั้น สื่อและอุปกรณ์ของมอนเทสซอริมีทั้งส่วนที่ช่วยพัฒนาทางประสบการณ์ชีวิต ประสาทรับรู้ทั้ง 5 ด้าน และวิชาการ ซึ่งอุปกรณ์ได้คิดค้นและมีการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อให้เด็กได้พัฒนาสติปัญญา การคิดอย่างมีระบบ มีเหตุผล นอกจากนี้อุปกรณ์แต่ละชิ้นมีการควบคุมความผิดพลาดในตัวของอุปกรณ์เอง กล่าวคือ เมื่อทำงานสำเร็จเด็กสามารถรู้ได้ว่าสิ่งที่ทำไปถูกหรือผิด เด็กจะเรียนรู้ด้วยตนเองในการเกิดความรู้สึกพอใจและภูมิใจเมื่อทํางานได้สำเร็จและถูกต้อง ตลอดจนเรียนรู้ในการชื่นชมผลงานของผู้อื่น แต่หากเด็กทำผิดหรือยังไม่พอใจในการทำงานของตนเอง เด็กก็สามารถเรียนรู้และแก้ไขใหม่ได้โดยการทำงานนั้นซ้ำ ดังนั้นอุปกรณ์ที่ใช้ต้องมีคุณภาพดี พร้อมใช้ และเป็นขนาดสำหรับเด็ก ในแต่ละห้องเรียนจะมีอุปกรณ์เพียง 1ชิ้น/ชนิด และการจัดวางอุปกรณ์จะมีที่เฉพาะสําหรับวางอุปกรณ์ทุกอย่างกล่าวคือ เด็กต้องเก็บอุปกรณ์ให้เรียบร้อยเมื่อทํางานเสร็จเพื่อให้พร้อมสำหรับผู้อื่นในการหยิบงานไปทำต่อไป เด็กได้เรียนรู้จากการทํางานร่วมกับผู้อื่น รู้จักการรอคอยโอกาสของตนเรียนรู้การใช้สิ่งของร่วมกัน ตลอดจนการรักษาสิ่งของส่วนรวม

ปรัชญาของการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเทสซอริ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้อยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ตามจริยธรรมและประเพณีที่ดีของชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ มุ่งให้สังคมของเด็กเป็นสังคมสมานฉันท์และมีสันติภาพ การศึกษาของ มอนเทสซอริออกแบบมาเพื่อช่วยเด็กในการสร้างความเจริญจากภายในตนตั้งแต่เยาว์วัยจนบรรลุนิติภาวะ มีความยืดหยุ่นให้บังเกิดประโยชน์สูงสุดเหมาะกับเด็กแต่ละคน

4 ระนาบของพัฒนาการ (Four Planes of Development)

ช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 24 ปี เป็นช่วงที่มีพัฒนาการของชีวิต ดร.มาเรีย มอนเทสซอริ ได้เขียนระนาบพัฒนาการนี้ โดยแบ่งพัฒนาการของชีวิตออกเป็น 4 ระนาบ คือ

ระนาบที่ 1 : วัยแรกเกิด คือ อายุ 0 – 6 ปี พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง/ข้อมูล ทุกประเภท มีความเป็นอิสระในการทำงาน
ระนาบที่ 2 : วัยเด็ก คือ อายุ 6 – 12 ปี เกิดความเป็นตัวตนของตนเอง มีความเป็นอิสระในการใช้เหตุผล
ระนาบที่ 3: วัยรุ่น คือ อายุ 12 – 18 ปี มีความเป็นอิสระทางอารมณ์สูง จึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง
ระนาบที่ 4: วัยผู้ใหญ่ คือ อายุ 18 – 24 ปี ช่วงค้นหาตัวตนในสังคม ความเป็นอิสระทางการเงิน
แต่ละระนาบของพัฒนาการ มีความต้องการที่แตกต่างและการแสดงออกที่เห็นเด่นชัดที่แตกต่างกัน

  • ระนาบที่ 1 และ 2 เป็นช่วงแห่งการสร้างความเป็นมนุษย์
  • ระนาบที่ 3 และ 4 เป็นช่วงแห่งการสร้างความเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

ในแต่ละระนาบแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 3 ปี ดังนี้

  • ช่วง 3 ปีแรกของแต่ละระนาบ (อายุ 0-3, 6-9, 12-15, 18-21 ปี) เป็นช่วงเวลาของการสร้าง คือ รับข้อมูล สร้างความรู้ โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงนี้
  • ช่วง 3 ปีหลังของแต่ละระนาบ (อายุ 3-6, 9-12, 15-18, 21-24 ปี) เป็นช่วงเวลาของการตกผลึก คือ จะเป็นช่วงเวลาในการรวบรวมผสมผสานความรู้ที่ได้รับใน 3 ปีแรก มาใช้ในลักษณะต่างๆเพื่อก่อให้เกิดประสบการณ์ชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ

หลักสูตรการจัดการเรียนการสอนแบบมอนเทสซอริ

เนื่องจากมอนเทสซอริเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองธรรมชาติของเด็กแต่ละช่วงวัย ดังนั้นหลักสูตรและวิธีการสอนของมอนเทสซอริ แต่ละช่วงวัยจะมีความแตกต่างกัน ดังนี้

หลักสูตรมอนเทสซอริ สำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี

ลักษณะการสอนเด็กอายุ 3-6 ปี ครูแนะนำการทำงานเป็นรายบุคคลโดยใช้สื่อมอนเทสซอริ และเด็กจะทำงานคนเดียวกับสื่อ แบ่งกิจกรรมออกเป็น 4 หมวด ดังนี้


1. หมวดชีวิตประจำวัน (Practical Life)
วัตถุประสงค์ของกิจกรรมหมวดนี้ คือ ฝึกและพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก – กล้ามเนื้อใหญ่ ความสมดุลของร่างกาย  ฝึกการเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เป็นพื้นฐาน  ฝึกการทำงานของมือและตา ให้ประสานสัมพันธ์กัน  ฝึกการควบคุมการเคลื่อนไหว  การพึ่งตนเอง  ฝึกสมาธิ  การใช้ชีวิตในสังคม ตลอดจนกิริยามารยาท กิจกรรมส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงเด็กจากบ้านสู่โรงเรียน แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงาน ดังนี้

1.1. การเคลื่อนไหวเบื้องต้น เช่น การยก การม้วน/พับ/คลี่ การพับ การตัก การเท การตัด การเปิด/ปิดขวด การร้อยลูกปัด การหนีบ การคีบ

1.2. การดูแลตนเอง เช่น การล้างมือ การแต่งตัวแบบต่างๆ การขัดรองเท้า การถอด/ใส่เสื้อผ้า การหวีผม

1.3. การดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การเช็ดโต๊ะ การกวาด การขัด การซัก การล้างช้อน/จาน การหั่น การรดน้ำต้นไม้ การจัดดอกไม้

1.4. กิริยามารยาทและปฏิสังคม เช่น มารยาททางสังคมต่างๆ วิธีการพูด การแสดงออกต่างๆ

1.5. การควบคุมการเคลื่อนไหว เช่น การเดินบนเส้น เกมเงียบ


2. หมวดการรับรู้ (Sensorial)

วัตถุประสงค์ของกิจกรรมหมวดนี้ คือ ฝึกการรับรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยประสาทรับรู้ทั้ง 5 คือ ตา หู มือ จมูก ลิ้น โดยจะฝึกในเรื่องการจำแนกคุณลักษณะของสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติรอบตัว  การจัดระบบ ระเบียบ ลำดับของสิ่งต่างๆ  เพื่อฝึกและส่งเสริมประสาทรับรู้ให้มีความละเอียดและไว   นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อการศึกษาชั้นสูงขึ้น

หมวดการรับรู้ แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มงาน ดังนี้

2.1. จักษุประสาท ฝึกตาในการมอง มิติ ขนาด รูปร่าง สี    เช่น แท่นพิมพ์ทรงกระบอก  ตึกชมพู  บันไดน้ำตาล กล่องสี

2.2. โสตประสาท  ฝึกหูในการฟัง เสียง ระดับเสียง จำแนกเสียง   เช่น กล่องเสียง  ระฆังดนตรี

2.3. ประสาทสัมผัส ฝึกมือในการสัมผัส พื้นผิว อุณหภูมิ น้ำหนัก เช่น กระดานหยาบเรียบ กล่องผ้า  ขวดอุณหูมิ  แผ่นน้ำหนัก

2.4. ฆานประสาท ฝึกจมูกในการดม กลิ่นต่าง ๆ รอบตัว   เช่น ถาดการดม

2.5. ประสาทรส ฝึกลิ้นในการรับรู้รสชาติ  เช่น การชิมรส


3. หมวดภาษา (Language)

วัตถุประสงค์ของหมวดนี้ คือ ฝึกทักษะการสื่อสารด้านต่าง ๆ คือ การฟัง การพูด  การอ่าน และการเขียน

หมวดภาษาแบ่งออกเป็น  3  กลุ่มงาน ดังนี้

3.1. การพูด       คำศัพท์, การฟัง, การพูด, การสื่อสารความคิด

3.2. การเขียน   เตรียมความพร้อมสำหรับการเขียน, สร้างคำจากตัวอักษรเคลื่อนที่ พัฒนาการจดบันทึก, การแต่งประโยค-เรื่องสั้น, การเขียน

3.3. การอ่าน     การสะกดคำ, การอ่านคำ วลี ประโยค, หน้าที่ของคำ, อ่านวิเคราะห์คำในประโยค


4.  หมวดคณิตศาสตร์ (Mathematics) 

วัตถุประสงค์ของหมวดนี้ คือ ฝึกให้รู้ชื่อและสัญลักษณ์ของจำนวน ระบบเลขฐานสิบ หลักการและวิธีการที่สำคัญทางคณิตศาสตร์ (การบวก-ลบ-คูณ-หาร)  และพื้นฐานความเข้าใจเชิงนามธรรมของวิชาคณิตศาสตร์ 

หมวดคณิตศาสตร์ แบ่งออกเป็น  5  กลุ่มงาน ดังนี้

4.1. จำนวน                         1 ถึง 10

4.2. ระบบเลขฐานสิบ          ระบบเลขฐานสิบ และหลักหน่วย สิบ ร้อย พัน

4.3. การนับ                         การนับแบบต่อเนื่อง 1 – 1000

                                         การนับข้าม (ที่เป็นพื้นฐานของสูตรคูณ เลขยกกำลัง-สำหรับชั้นประถม)

4.4. การจำเลขขึ้นใจ           ฝึกทักษะการบวก ลบ คูณ หาร

4.5. ทางสู่นามธรรม            รู้จักจำนวนที่มากขึ้น(หมื่น-ล้าน), เศษส่วน และลดการใช้อุปกรณ์เน้นการคิดในหัวด้วยตัวเองมากขึ้น

หลักสูตรมอนเทสซอริ สำหรับเด็กอายุ 6-12 ปี

แบ่งกิจกรรมออกเป็น 7 หมวด ดังนี้

1. ภาษา

   1.1. ประวัติศาสตร์ของภาษา

   1.2. หน้าที่ของคำ

   1.3. ส่วนประกอบของภาษา

   1.4.  การวิเคราะห์ประโยค

   1.5.  ภาษาพูด

   1.6.  ภาษาเขียน

   1.7.  วรรณคดี

2. คณิตศาสตร์

   2.1. เรื่องราวความเป็นมาของจำนวน

   2.2. ระบบทศนิยม

   2.3. การคูณ

   2.4. กฎของการคูณ

   2.5. พหุคูณ, ตัวประกอบ, จำนวนเฉพาะ

   2.6. การหาร

   2.7. การหารลงตัว

   2.8. เศษส่วน

   2.9. เศษส่วนทศนิยม

  2.10. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเลขยกกำลังสอง และเลขยกกำลังสาม

  2.11. เลขยกกำลังสอง

  2.12. เลขยกกำลังสาม

  2.13. จำนวนรากกำลังสอง

  2.14. จำนวนรากกำลังสาม

  2.15. จำนวนและเลขกำลังที่อยู่เหนือจำนวน

  2.16. เลขในฐานอื่นๆ

  2.17. จำนวนเต็มบวก และจำนวนเต็มลบ

  2.18. พีชคณิต

  2.19. อัตราส่วนและสัดส่วน

  2.20. โจทย์ปัญหา

  2.21. การวัด

3. เรขาคณิต

4. ภูมิศาสตร์

5. ประวัติศาสตร์

6. ชีววิทยา

7. ดนตรี